เรารู้และเข้าใจกันดีอยู่แล้วว่า การปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยของประเทศสหรัฐอเมริกานั้นแบ่งอำนาจออกเป็น 3 ฝ่ายนั่นคือ อำนาจตุลาการ (ศาล) อำนาจบริหารประเทศ (ทำเนียบขาว) อำนาจนิติบัญญัติ (สภา) ซึ่งทั้ง 3 อำนาจจะทำหน้าที่ถ่วงดุลซึ่งกันและกัน คราวนี้เรามาดูโครงสร้างการปกครองของอเมริกาบ้างดีกว่า ว่าเค้าปกครองตัวเอง อยู่กันแบบไหน
การแบ่งระดับการปกครอง
สหรัฐอเมริกาหากจะให้แบ่งระดับการปกครองจะสามารถแบ่งได้ 3 ระดับ นั่นคือ หนึ่งการปกครองระดับส่วนกลาง หรือ รัฐบาลกลางนั่นเอง สองการปกครองในมลรัฐ หมายถึงการปกครองตัวเองของแต่ละรัฐ และสามการปกครองระดับท้องถิ่น ซึงมีแตกต่างกันไปตามแนวคิดของประชากรในรัฐนั้น
การปกครองส่วนกลาง
การปกครองภาพใหญ่สุดของอเมริกา หรือ การปกครองส่วนกลางนั้น เราน่าจะรู้จักกันเป็นอย่างดีอยู่แล้วไม่ว่าจะเป็นการปกครองทั้ง 3 ฝ่าย การคัดเลือกคนเข้าสู่ตำแหน่งผู้มีอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้ง สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และ สมาชิกผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จำนวน ส.ส. นั้นจะขึ้นอยู่กับจำนวนประชากรในแต่ละรัฐ ส่วนอำนาจบริหารก็มาจากการเลือกตั้งประธานาธิบดี และสุดท้ายอำนาจตุลาการ หัวหน้าศาลสูงจะมาจากการแต่งตั้งของประธานาธิบดีเอง
การปกครองระดับมลรัฐ
ขยับภาพเล็กลงมาหน่อย เรารู้กันดีว่าประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่ยิ่งใหญ่มาก จำนวนประชากรมาก พื้นที่กว้างใหญ่ โดยแบ่งออกเป็น 50 รัฐด้วยกัน ด้วยพื้นที่ใหญ่และมีความแตกต่างกันเยอะ อเมริกาจึงออกแบบให้แต่ละรัฐมีการปกครองด้วยตัวเองมีอำนาจ 3 ฝ่ายเช่นกัน ด้านบริหารผู้มีอำนาจสูงสุดของรัฐคือ ผู้ว่าการมลรัฐ ตำแหน่งนี้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนในรัฐ สองด้านนิติบัญญัติออกกฎหมายควบคุมรัฐก็มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเช่นกัน สุดท้าย อำนาจตุลาการ ผู้พิพากษาก็มาจากการเลือกตั้งด้วยเหมือนกัน
การปกครองระดับท้องถิ่น
การปกครองระดับย่อยลงไปอีกนั่นคือ การปกครองระดับท้องถิ่น ตรงนี้ประเทศอเมริกาค่อนข้างให้อิสระกับแต่ละรัฐไปบริหารจัดการกันเองว่า ต้องการมีการปกครองท้องถิ่นตัวเองในแต่ละรัฐเป็นอย่างไร ให้เสนอความต้องการมายังรัฐ แล้วรัฐจะทำการรับรองสถานภาพการปกครองท้องถิ่นนั้น ซึ่งการปกครองท้องถิ่นมีหลากหลายรูปแบบมาก เช่น เคาน์ตี้, มิวนิซิปอล, ทาวน์, ทาวน์ชิพ ,โรงเรียน หรือเขตพิเศษต่างๆ หน่วยการปกครองท้องถิ่นเราแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือกลุ่มที่ทำหน้าที่หลากหลายตอบสนองคนในพื้นที่นั้นๆ อีกกลุ่มหนึ่งจะตั้งขึ้นมาเพื่อจัดการภารกิจตอบสนองคนในพื้นที่เพียงแค่ 1-2 อย่างเท่านั้นเช่นโรงเรียน ก็จะจัดการเรื่องโรงเรียนเป็นต้น นอกจากนั้นหน่วยปกครองท้องถิ่นนี้จะมีการบัญญัติกฎ หน้าที่ การเข้าสู่ตำแหน่ง การดำรงตำแหน่งและอื่นไว้ค่อนข้างชัดเจนทีเดียว เราจะเห็นว่าอเมริกาออกแบบการปกครองแบบยึดถือประชาชนเป็นที่ตั้งตามหลักประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ลองไปศึกษาเพิ่มเติมได้